J-League ผู้นำลีกฟุตบอลเอเชีย

               ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมที่ครองใจคนทุกเพศทุกวัยทั่วโลก โดยในหลาย ๆ ประเทศก็จะมีลีกการแข่งขันที่คอยให้แฟนบอลได้ร่วมลุ้นร่วมเชียร์กันซึ่งมีมูลค่าไหลเวียนในลีกการแข่งขันเหล่านี้สูงมาก

          โดยลีกระดับโลกที่ไม่ใช่มีเพียงแค่โด่งดังในประเทศแต่ยังมีแฟน ๆ ชมการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ไปทั่วโลกอย่าง เช่น Premier League ของประเทศอังกฤษ ที่มีสโมสรทีมดังอย่าง Manchester United, Manchester City, Liverpool, Chelsea, Arsenal หรือ La Liga ของประเทศสเปน มีสโมสรทีมดังเช่น Real Madrid, Barcelona, Valencia จนถึง Bundesliga ของประเทศเยอรมัน มีสโมสรทีมที่รู้จักกันอย่าง Bayern Munich, Borussia Dortmund, Bayer 04 Leverkusen เป็นต้น ซึ่งลีกใหญ่ ๆ เหล่านี้มักจะอยู่ในทวีปยุโรป

          โดยในทวีปเอเชียของเราฟุตบอลก็เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ อยู่แล้วซึ่งลีกฟุตบอลที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากลก็คือ J-League ของประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง และยิ่งนับวันพัฒนาการของลีกนี้ก็ยิ่งก้าวหน้าขึ้นทุกที ครั้งนี้เราจะมาดูกันว่าอะไรทำให้ลีกฟุตบอลจากเอเชียนี้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

          J-League ถูกจัดให้เป็นลีกสูงสุดในการแข่งขันฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่นแบ่งเป็น 3 ดิวิชั่น โดยเริ่มต้นจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 1993 ในตอนนั้นมี 10 สโมสร เป็นทีมตั้งต้นในการแข่งขัน โดยกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของคนญี่ปุ่นช่วงนั้นก็ไม่พ้นเบสบอล แต่ว่าในช่วงนั้นกลับมีการ์ตูนที่ชื่อว่า Captain Tsubasa เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่มีความฝันในเรื่องการเป็นนักกีฬาฟุตบอลระดับโลกซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่โด่งดังมากในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศทำให้มีการตื่นตัวกันของเด็กไปจนถึงเยาวชนในเรื่องของฟุตบอล รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมองเห็นไปถึงโอกาสพลักดันกีฬาชนิดนี้ให้เป็นอาวุธไปสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้

          แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือรากฐานของนักกีฬานั่นเองจึงพลักดัน J-League ให้เกิดขึ้นในมาตรฐานที่ดีสู้กับลีกอื่น ๆ ได้ ในช่วงเริ่มแรกนั้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในนัดเปิดสนามเป็นการแข่งขันระหว่างทีม เวอร์ดี คาวาซากิ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นโตเกียว เวอร์ดี กับ โยโกฮามะ เอฟ มารินอส ที่สนามกีฬาแห่งชาติโตเกียวมีแฟนบอลประมาณ 60000 คน ร่วมชมในนัดนี้ มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ไปทั่วประเทศสร้างกระแสการรับรู้ถึงกีฬาฟุตบอลไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

          แต่ว่าการเริ่มต้นก็ไม่ได้สวยงามเสมอไป เพราะว่าในปี 1996-1999 แฟนบอลที่เข้ามาชมในสนามอย่างหนาแน่นได้ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ทว่าผู้บริหารของ J-League นั้นก็ไม่ได้นึ่งนอนใจให้กระแสของลีกฟุตบอลระดับประเทศนั้นหายไปแต่กลับหาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ออกมา คือ วางนโยบายล่วงหน้าถึงเกือบ 100 ปี โดยตั้งใจจะทำให้ทีมสโมสรอาชีพในปี 2092 มี 100 ทีมซึ่งพอดีกับการครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งลีก เป็นเหตุให้ท้องถิ่นต่าง ๆ หันมาสนับสนุนในด้านกีฬาประเภทนี้มากขึ้นเพื่อให้เกิดทีมภายในชุมชน

          และอีกวิธีหนึ่งก็คือมีการจัดระบบให้เป็นดิวิชั่น 3 ดิวิชั่นคือลีกสูงสุดนับเป็น ดิวิชั่น 1 รองลงมาคือ ดิวิชั่น 2 และสุดท้ายคือ ดิวิชั่น 3 นอกนั้นก็จะเป็นลีกสมัครเล่น ซึ่งเกิดการแข่งขันที่จริงจังดุดเดือดมากขึ้นเพื่อจะขึ้นมาดิวิชั่นที่สูงกว่าและดำเนินการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง

          นับตั้งแต่นั้นวงการฟุตบอลของญี่ปุ่นก็พัฒนาเป็นอย่างมาก มีนักเตะที่โดดเด่นจาก J-League ได้ไปเล่นยังลีกชั้นนำของประเทศในยุโรบ และเพียงไม่นาน ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2002 ร่วมกับประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์การแข่งขันฟุตบอลระดับทีมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ไปทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาแค่ 10 ปีนับตั้งแต่มีการก่อตั้งลีกฟุตบอลประจำประเทศ ญี่ปุ่นก็สามารถเดินทางมาถึงจุดนี้ได้

          ตอนนี้ J-League เป็นจุดหมายปลายทางของนักเตะระดับโลกที่จะมาค้าแข้งที่นี่ เพราะด้วยการจัดการที่ดี สนามได้มาตรฐานสากล นักเตะประจำชาติที่แข็งแกร่ง แฟนบอลที่ให้การต้อนรับอบอุ่น โดยมีนักเตะไทยหลายคนได้เข้าไปร่วมโม่แข้งในลีกนี้ด้วยหนึ่งในนั้นก็คือ ชนาธิป สรงกระสินธ์ นักเตะขวัญใจคนไทยที่เล่นให้กับทีมสโมสร Hokkaido Consadole Sapporo นั่นเอง

          และนี่ก็เป็นเรื่องราวความสำเร็จของ J-League ที่ลีกฟุตบอลหลายประเทศในเอเชียมองเป็นโรลโมเดลในการดำเนินงานตาม